ภูมิศาสตร์



สภาพทางภูมิศาสตร์
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 8,124.056 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 5,077,535 ไร่) ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 450 กิโลเมตร




ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดมหาสารคาม

ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ

ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์

ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดอุดรมีชัย ราชอาณาจักรกัมพูชา ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ บัวเชด สังขะ กาบเชิง และพนมดงรัก ความยาวตลอดแนวชายแดนประมาณ 90 กิโลเมตร



ภูเขา

จังหวัดสุรินทร์ มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย – กัมพูชา ทางด้านตอนใต้ของจังหวัด มีเขาสวายหรือพนมสวายในเขต ต.นาบัว อ.เมืองสุรินทร์ เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ย ๆ 3 ยอด ยอดที่ 1 ชื่อยอดเขาชาย (พนมเปราะ) เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทร มงคล ปางประทานพร ภปร. ยอดที่ 2 ชื่อยอดเขาหญิง (พนมซแร็ย) เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ขนาดกลาง ยอดที่ 3 ชื่อยอดเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างศาลาอัฏฐะมุข เพื่อเป็นอนุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และสถูปบรรจุอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เกจิอาจารย์ที่ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็น วนอุทยานพนมสวาย





แหล่งน้ำธรรมชาติ

จังหวัดสุรินทร์มีลำน้ำธรรมชาติที่สำคัญ 8 สาย คือ แม่น้ำมูล ลำน้ำชีน้อย ลำห้วยอารีย์ ลำห้วยพลับพลา ลำห้วยระวี ลำห้วยทับทัน ลำห้วยสำราญ และลำห้วยแก้ว เป็นลำน้ำที่ทำประโยชน์แก่จังหวัดนอกจากนั้นยังมีแหล่งน้ำอื่น ๆ ในเขตอำเภอต่าง ๆ รวมถึงแหล่งน้ำอื่นที่ไม่เอื้อประโยชน์มากนัก เนื่องจากในฤดูแล้งไม่มีน้ำอีกเป็นจำนวนมาก


ภาพที่ 2 แสดงสภาพลุ่มน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์


     อ่างเก็บน้ำของจังหวัดมีหลายแห่ง ที่สำคัญ ได้แก่

1. อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ตั้งอยู่ระหว่างบ้านเฉนียงกับบ้านโคกกะเพอ ต.เฉนียง อ.เมือง มีความจุ ที่ระดับเก็บกัก 20.022 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 เท่ากับ 13.980 ล้านลูกบาศก์เมตร (69.82% ของระดับเก็บกัก) ส่งน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ชลประทาน 45,500 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำคัญในการผลิตน้ำประปาของจังหวัด ปีละประมาณ 8.67 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นที่ตั้งของอาคารที่ประทับ เรือนรับรองเมื่อคราวพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


2. อ่างเก็บน้ำอำปึล ตั้งอยู่ที่บ้านอำปึล หมู่ที่ 9 ต.เทนมีย์ อ.เมือง มีความจุที่ระดับเก็บกัก 27.675 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 เท่ากับ 12.220 ล้านลูกบาศก์เมตร (44.16% ของระดับเก็บกัก) เป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อรองรับความต้องการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ส่งน้ำเพื่อการเกษตรพื้นที่ชลประทาน 3,680 ไร่ และรองรับการใช้น้ำในการอุตสาหกรรม ปีละประมาณ 540,000 ลูกบาศก์เมตร


ทรัพยากรธรรมชาติ

จังหวัดสุรินทร์ มีป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 29 ป่า มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่า ตามกฎกระทรวง จำนวน 1,115,284 ไร่ (ร้อยละ 21.97 ของพื้นที่จังหวัด) มอบ สปก. จำนวน 967,056.61 ไร่ คงเหลือพื้นที่ป่าสงวนในปัจจุบัน จำนวน 148,227.39 ไร่ (ร้อยละ 13.29 ของพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าฯ) มีวนอุทยานจำนวน 2 แห่ง คือ วนอุทยานพนมสวาย อ.เมืองสุรินทร์ เนื้อที่ 1,975 ไร่ และวนอุทยานป่าสนหนองคู อ.สังขะ เนื้อที่ 625 ไร่ มีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน – ห้วยสำราญ อยู่ในพื้นที่อำเภอพนมดงรัก, กาบเชิง, สังขะ และ บัวเชด รวมเนื้อที่ 313,750 ไร่ (502 ตารางกิโลเมตร) (แหล่งข้อมูล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสุรินทร์ ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2553)


พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดสุรินทร์ ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดบริเวณเทือกเขาพนมดงรักในเขตอำเภอสังขะ บัวเชด กาบเชิง และ พนมดงรัก และยังมีป่าไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอปราสาท เมืองสุรินทร์ ท่าตูม รัตนบุรี ลำดวน และ ศีขรภูมิ ต้นไม้ที่มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ยาง ประดู่ พะยูง ตาด แดง กะบาก และอื่น ๆ รวมทั้งต้นมันปลา หรือต้นกันเกรา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ และต้นยูคาลิปตัส เกือบทุกอำเภอ นอกจากนั้นมีการปลูกต้นยางพาราที่อำเภอกาบเชิง พนมดงรัก และ ศรีณรงค์ บางอำเภอสามารถกรีดยางได้แล้ว ส่วนทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่มีอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ บ่อหินลูกรัง (อ.ท่าตูม อ.สำโรงทาบ อ.สังขะ) และทรายแม่น้ำมูลที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง (อ.ท่าตูม อ.ชุมพลบุรี)


เกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น แพะ แกะ ไก่งวง ห่าน มีการเลี้ยงน้อยมาก การเลี้ยงสัตว์นั้นจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมเกือบทุกครัวเรือน โดยเลี้ยงสัตว์หลาย ๆ ชนิดรวมกันในบริเวณบ้านหรือใต้ถุนบ้าน เป็นการเลี้ยงแบบดั้งเดิมตามที่บรรพบุรุษเคยเลี้ยงมา ไม่ค่อยมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากนัก แต่ที่พิเศษกว่าจังหวัดอื่น คือ การเลี้ยงช้าง ซึ่งเลี้ยงกันมาก ที่หมู่บ้านช้าง (บ้านตากลาง) อ.ท่าตูม


ส่วนสัตว์น้ำที่มีอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ส่วนมากเป็นปลาน้ำจืดที่มีอยู่ทั่วไปเหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ รวมทั้งปลาน้ำจืดอื่น ๆ ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสุรินทร์ เพาะเลี้ยงและให้การสนับสนุน ส่วนทรัพยากรแร่ธาตุต่าง ๆ นั้น ยังไม่มีการพบแต่อย่างใด คงมีเพียงหินสีต่าง ๆเท่านั้น